เรื่องการโดนผู้รับเหมาทิ้งงาน เป็นปัญหาเรื่องการก่อสร้างที่พบเจอกันเป็นประจำ
ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างบ้านขนาดเล็ก จนถึงอาคารขนาดใหญ่ก็มีปัญหาเรื่องการทิ้งงาน
จนต้องมีการเปลี่ยนผู้รับเหมาหลายราย กว่าจะทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้
ซึ่งตรงนี้ประเด็นและสาเหตุการทิ้งงานของผู้รับเหมา โดยส่วนมากมักจะมีปัญหา
เรื่องการบริหารจัดการตัวเองไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือเป็นเรื่องส่วนตัวเช่นเรื่องการเงิน
ทำให้หมุนเงินไม่ทัน จึงต้องหาวิธีรับงานใหม่ เพื่อเบิกงวดงานของที่ใหม่มาใช้จ่าย
เมื่อเบิกงวดงานของที่ใหม่ไปแล้ว ทำให้ต้องไปเริ่มงานที่ใหม่ และไม่สามารถ
กลับมาทำงานที่เดิมต่อได้จึงเป็นปัญหาทิ้งงานเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาการสื่อสาร ระหว่างช่างกับเจ้าของบ้านก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง
ที่ทำให้ช่าง ผู้รับเหมาทิ้งงาน เช่น เมือรับคำสั่งแล้วทำงานออกมาแล้ว
ไม่ตรงตามความต้องการ หรือไม่ได้ดั่งใจเจ้าของบ้าน ทำให้ต้องมีการเก็บแก้งานบ่อยๆ
เมื่อนานเข้า จึงขาดทุน ทำให้ต้องทิ้งงาน
บทความนี้ vLIVING PRO จะมาพูดคุยกัน ถึงกรณีการทิ้งงานว่า
ถ้าเกิดการทิ้งงานขึ้นแล้วจะเคลียร์ค่าใช้จ่ายยังไง และเราควรทำสัญญา
ระบุงวดงานเบิกจ่ายให้ชัดเจน ดังต่อไปนี้


1.ต้องจ่ายเงินในส่วนที่ผู้รับเหมาทำงานไปแล้วหรือไม่?
หากช่างทำงานไม่สำเร็จ หรือทิ้งงานไปกลางคัน โดยที่ปริมาณงานยังเหลืออีกเยอะ หากช่างเบิกงวดงาน
ไปแล้วปิดมือถือหรือติดต่อยาก ลักษณะนี้ถือว่าเป็นการทิ้งงาน ผู้ว่าจ้างอาจจะต้องพิจารณาไม่จ่ายเงิน
ในส่วนที่ทำไป แล้วเพราะ เงินที่เหลือ จะต้องนำไปจ้างช่าง หรือผู้รับเหมาที่ว่าจ้างเข้ามาใหม่
เพื่อเข้ามาต่องาน เก็บแก้งานเดิม ซึ่งช่างใหม่อาจจะคิดเงินราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น
เพราะไม่รู้ว่าของเดิมได้ทำไว้แย่แค่ไหน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บงานมากขึ้น
ในส่วนของการเผื่อค่าเก็บแก้งาน
2.การจ้างงานช่างหรือผู้รับเหมา
ในการจ้างงาน ควรทำสัญญาให้ชัดเจน ว่าเบิกงวดงานได้ตอนไหน
แต่หากเราไม่มีเอกสารสัญญาที่จะระบุได้ชัดเจนเรื่องงวดงาน
อาจจะทำให้ช่าง มีการเบิกเงินเกินกว่าปริมาณงานที่ทำไปแล้วจริง
พอเจ้าของบ้านมารู้ตัวอีกที ก็พบว่าผู้รับเหมาเบิกเงินส่วนใหญ่ไปเกือบหมดแล้ว
แต่งานยังไม่ไปถึงไหนเลย
ในทางกลับกัน หากถึงงวดงานที่กำหนดแล้วเจ้าของบ้านดึงเงิน ไม่จ่าย
และสัญญามีระบุว่า ผู้รับเหมามีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาได้ ทางผู้รับเหมาก็อาจจะ
พิจารณายกเลิกสัญญา และฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาล
ในส่วนงานที่ได้ทำไปแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะต้องมาไกล่เกลี่ย
และสรุปกันว่า ทำงานไปมาก น้อยแค่ไหน แล้วจะต้องเคลียร์ค่าใช้จ่ายกันเท่าไหร่
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- ในการทำสัญญากับผู้รับเหมา ทางผู้ว่าจ้างควรจะขอเอกสารประกอบ
การทำสัญญาจ้างงาน เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านเดิม ไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
เพื่อใช้ในการอ้างอิง ซึ่งโดยทั่วไปช่างที่ไม่บริสุทธิ์ใจจะไม่ยอมให้หลักฐานประกอบ
เพื่อแนบในสัญญา ดังนั้น หากผู้รับเหมาบ่ายเบี่ยงการให้เอกสารเหล่านี้
ก็ไม่ควรทำการว่าจ้าง
- นอกจากนี้ เราไม่ควรเลือกผู้รับเหมาที่มีปัญหาการเงินตั้งแต่แรก
เพราะตอนทำงานจริงก็มีโอกาสเกิดปัญหาหมุนเงินไม่ทันและอาจทิ้งงานได้
หลักเกณฑ์ง่ายๆในการดูว่า ผู้รับเหมามีปัญหาทางการเงินหรือไม่
เช่น ดูจากรถยนต์ที่ขับ ถ้าสภาพแย่มากๆ ก็เสียบ่อย แล้วไม่มีเงินซ่อม
ก็อาจจะบ่งบอกว่า กำลังมีปัญหาการเงิน หรืออีกวิธีคือ สอบถามจากผู้ว่างจ้าง
รายก่อนๆ ถึงเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ของผู้รับเหมารายดังกล่าว ว่าที่ผ่านมา
มีการเบิกล่วงหน้า ก่อนงวดงานที่ควรจะทำจ่ายได้ บ่อยหรือไม่ เป็นต้น
แก้ไขความคิดเห็น