เป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาคนบ้านใกล้เรือนเคียงมากมายหลายรูปแบบ อาจสร้างความลำบากใจ หรือหงุดหงิดรำคาญใจต่อกันได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ความสัมพันธ์อันดีต่อเพื่อนบ้านต้องสั่นคลอน ควรทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ และความรู้เบื้องต้นด้านกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนี้
- ข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขต

ควรศึกษากฎหมายให้แน่ชัดก่อนว่าควรเว้นระยะถอยร่นจากเขตกรรมสิทธิ์เท่าไร เช่น
- อาคารที่เป็นผนังทึบ และสูงไม่เกิน 15 เมตร สามารถสร้างติดเขตที่ดินได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากเพื่อนบ้านก่อน แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่ยินยอม ต้องถอยร่นห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
- อาคารสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่เกิน 23 เมตร จะต้องถอยร่นห่างจากเขตที่ดินอย่างนี้ 50 เซนติเมตร
- ถ้ามีช่องเปิด แล้วอาคารสูงไม่เกิน 9 เมตร ตัวอาคารจะมีกี่ชั้นก็ได้ จะต้องถอยร่นห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 2 เมตร แต่ถ้าอาคารสูงเกิน 9 เมตร และมีช่องเปิด ต้องถอยร่นห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 3 เมตร
- 70% ของพื้นที่ทั้งหมดใช้สำหรับสร้างบ้าน และควรมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% เพื่อใช้สำหรับทำบ่อน้ำ สระว่ายน้ำ หรือบ่อพักน้ำเสีย เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องต่อเติมชิดติดเขตของเพื่อนบ้าน ควรให้เพื่อนบ้านเซ็นยินยอมก่อน
- เขตรั้ว

มาตรฐานความสูงของรั้ว ที่นิยมใช้ทั่วไป คือ รั้วหลังบ้านสูงได้ไม่เกิน 1.80 เมตร รั้วหน้าบ้านสูงได้ไม่เกิด 1.20 เมตร และรั้วต้นไม้สูงได้ไม่เกิน 2.40 เมตร แต่ในกรณี ที่ต้องการสร้างรั้วสูง เพื่อความเป็นส่วนตัว ก็สามารถทำได้ แต่ต้องสร้างสูงได้ไม่เกิน 3 เมตร และต้องสร้างใหม่อยู่ในเขตที่ดินของตนเอง ตามที่กฎหมายระบุไว้
- การยื่นล้ำของหลังคา

ควรระวังไม่ให้หลังคายื่นล้ำเขาไปในเขตของเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเวลาฝนตก จะทำให้ฝนจากหลังคาบ้านไหลเข้าบริเวณเขตบ้านของเพื่อนบ้านได้ ละถ้าหลังคาเสมอกับขอบรั้วบ้าน ควรใส่รางน้ำให้เรียบร้อยด้วย เพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงในเขตพื้นที่ของเพื่อนบ้าน
- วิวทิวทัศน์

ถ้าเพื่อนบ้านต่อเติมบ้าน หรือปลูกต้นไม้บังวิว ทิวทัศน์ โดยเฉพาะกรณีที่เพื่อนบ้านเจตนาทำสิ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อบังวิว เช่น บางสถานที่เป็นทะเล ภูเขา ซึ่งเป็นวิวธรรมชาติ กฎหมายจะระบุไว้ว่าห้ามปลูกต้นไม้สูงหรือสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำไปยังพื้นที่สาธารณะทำให้บังวิวเพื่อนบ้าน เจ้าของบ้านที่ถูกบังวิวสามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิชมวิวของตนได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องต่อเติมหรือสร้างสิ่งปลูกสร้าง ควรพูดคุยเจรจากับเพื่อนบ้านก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา
- ขุดบ่อ สระ หรือบ่อพักน้ำเสีย

การปรับพื้นที่ อาจก่อให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านได้ ดังนั้นจึงควรรู้เรื่องกฎหมายก่อนที่จะลงมือทำ เช่น การขุดดิน บ่อ หรือสระว่ายน้ำ ควรเว้นระยะร่นห่างจากรั้วบ้าน หรือพื้นที่ของเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่า 2 เมตร และต้องระวังไม่ให้ดินพังด้วย หากจำเป็นต้องขุดบ่อน้ำเสีย ควรระวังเรื่องกลิ่นเหม็น และน้ำเสียในบ่อเออล้น ไหลซึมเข้าเขตเพื่อนบ้าน ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นความผิดที่สามารถเอาผิดได้
- การปลูกต้นไม้ใหญ่ริมรั้ว

การปลูกต้นไม้ใหญ่ในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหามากมายกับเพื่อนบ้าน ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ติดกับรั้วของเพื่อนบ้าน เพราะหากต้นไม้เกิดเอนเอียง ใกล้จะล้ม หรือรากอาจชอนไชทะลุไปฝั่งเพื่อนบ้าน แล้วอาจทำให้รั้ว หรือโครงสร้างบ้านบริเวณนั้นๆพัง เสียหายได้ และหากกิ่งก้านของต้นไม้ยื่นล้ำเข้าไปในเขตของเพื่อนบ้าน แล้วรู้สึกว่าอาจทำให้บ้านเกิดการเสียหายได้ เพื่อนบ้านมีสิทธิตัดกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้ามาได้เลย หรือเพื่อนบ้านสามารถโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้สั่งตัด หรือขุดถอนต้นไม้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาทิ้งได้
- สัตว์เลี้ยงแสนรัก (ของเราคนเดียว)

ควรป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตของเพื่อนบ้าน กัดทำลายข้าวของพังเสียหาย หรือถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ รวมทั้งคุ้ยขยะ ทำให้บริเวณบ้านสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนเพื่อนบ้านสามารถเรียกร้องจากเจ้าของสัตว์ได้ และในกรณีที่สุนัขอาจชอบเห่าหอนส่งเสียงดัง สร้างความหนวกหู รำคาญใจ เพื่อนบ้านสร้างมารถแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลสัตว์ได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าต้องการที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงประเภทใดก็ตาม ควรใส่ใจดูแล และให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ควรจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ฝึกนิสัยของสัตว์เลี้ยงให้ดี เพื่อไม่ให้ก่อเรื่องวุ่นวาย และสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน
8 . จอดรถ ขวางทาง

ไม่ควรจอดรถขวางทางเข้า – ออก หน้าประตูบ้านของเพื่อนบ้าน กฎหมาย ถือว่าเป็นการกระทำความผิด สร้างคามเดือดร้อนรำคาญใจ เจ้าของบ้านมีสิทธิ์เรียกร้อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นควรขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อน เช่น ถ้ามีแขก หรือเพื่อนมาหาที่บ้านเพื่อนคุยธุระ แล้วที่จอดรถไม่เพียงพอ ควรพูดคุยเพื่อขออนุญาตกับเพื่อนให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
- เสียงดังรบกวน

การส่งเสียงดังที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ให้กับเพื่อน บ้านเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เช่น เสียงที่เกิดจาก งานเลี้ยง ดื่มสุรา เมาแล้วโวยวายส่งเสียงดัง เปิดเพลงเสียงดัง ทะเลาะกันเอะอะโวยวาย กฎหมายถือเป็นความผิด เพื่อนบ้านมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ หากจำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อน โดยกฎหมายได้ระบุช่วงเวลาเงียบสงบ ไว้ดังนี้
วันธรรมดา ช่วงเงียบสงบ คือ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 7.00 น.
วันหยุด ช่วงเงียบสงบ คือ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 9.00 น.
การอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน อาจจะก่อให้เกิดเรื่องกระทบกระทั้งกันบ้าง แต่ทางที่ดี ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล เปิดใจรับฟัง และช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะช่วยให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข และหากทุกคนทำตามกฎหมายข้อบังคับต่างๆอย่างถูกต้อง เชื่อว่าปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านก็จะหมดไป และอยู่กันได้ด้วยความสุขสงบ หมดปัญหากวนใจ
ขอบคุณรูปภาพจาก Pinterest
แก้ไขความคิดเห็น